บีคอน วีซี ร่วมลงทุน “ทีทูพี” ฟินเทคชั้นนำด้านโซลูชันการเงิน เสริมแกร่ง “เคแบงก์” รุกธุรกิจอี-วอลเล็ตรูปแบบ B2B2C

Beacon VC invests in T2P to strengthen KBank’s status, focusing on B2B2C e-wallet solutions

 

บีคอน วีซี ร่วมลงทุน “ทีทูพี” ฟินเทคชั้นนำด้านโซลูชันการเงิน เสริมแกร่ง “เคแบงก์” รุกธุรกิจอี-วอลเล็ตรูปแบบ B2B2C

บีคอน วีซี  ประกาศลงทุน ในทีทูพี (T2P) ฟินเทคชั้นนำด้านโซลูชันการเงิน เสริมจุดแข็งให้ “เคแบงก์” ในการพัฒนาอี-วอลเล็ตรูปแบบ B2B2C (Business to Business to Consumer) เชื่อมโยงประสบการณ์ใช้บริการไม่มีสะดุดตลอดอีโค่ซิสเต็มตั้งแต่กระบวนการสมัคร การทำธุรกรรมระหว่างธนาคาร การรับ-จ่ายเงิน ด้วยต้นทุนบริหารจัดการที่แข่งขันได้ มุ่งต่อยอดใช้อี-วอลเล็ตเสริมแกร่งให้บริการสินเชื่อดิจิทอลและเพิ่มช่องทางการรับชำระเงินให้แก่ลูกค้า

นายธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (บีคอน วีซี) เปิดเผยว่า นโยบายการลงทุนของบีคอน วีซี มุ่งเน้นการมองหาและร่วมสนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และมีนวัตกรรมหรือบริการที่สามารถต่อยอดบริการต่างๆ ของธนาคารกสิกรไทย โดยล่าสุด บริษัทได้เข้าลงทุนเชิงกลยุทธ์ในบริษัท     ทีทูพี จำกัด (T2P)  ซึ่งเป็นฟินเทคที่มีชื่อเสียงและประสบการณ์ยาวนานในการให้บริการโซลูชันธุรกรรมการเงินอย่างครบวงจรแก่ลูกค้าภาคองค์กรธุรกิจแบบ B2B2C

“เป้าหมายสำคัญในการร่วมลงทุน คือ การเสริมจุดแข็งให้กับธนาคารกสิกรไทยในธุรกิจอี-วอลเล็ตเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรซึ่งเป็นฐานธุรกิจที่ธนาคารให้ความสำคัญ โดยเป็นการผสานความแข็งแกร่งของธนาคารด้านธุรกิจการเงิน ด้วยฐานจำนวนลูกค้ารายย่อยที่มีอยู่กว่า 20 ล้านราย และโครงสร้างเทคโนโลยีการเงิน ร่วมกันกับศักยภาพและความเชี่ยวชาญของทีมงานทีทูพีในการพัฒนาระบบเชื่อมต่อข้อมูลธุรกิจและการเงินเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ในการใช้งานอย่างไร้รอยต่อตลอดทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ ตั้งแต่กระบวนการสมัคร การทำธุรกรรมระหว่างธนาคาร การรับ-จ่ายเงิน ด้วยต้นทุนบริหารจัดการที่แข่งขันได้  

บริษัท ทีทูพี จำกัด (T2P) เป็นผู้ให้บริการโซลูชันธุรกรรมการเงินอย่างครบวงจรแก่ลูกค้าภาคองค์กรธุรกิจแบบ B2B2C เช่น ระบบชำระเงิน โอนเงิน White Label Wallet เพื่อให้ลูกค้าองค์กรธุรกิจสามารถชำระค่าสินค้าและบริการผ่านตามช่องทางที่หลากหลายทั่วประเทศ ปัจจุบัน ทีทูพี มีอัตราการเติบโตกว่า 70% โดยแพลตฟอร์มของทีทูพีให้บริการกับลูกค้าบรรษัทชั้นนำกว่า 30 แห่ง และลูกค้ารายย่อยกว่า 9 ล้านบัญชี

นางสาวศุภนีวรรณ จูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทย ผลักดันการนำดิจิทอล โซลูชัน (Digital Solution) เข้ามาพัฒนาบริการการเงินให้กับลูกค้าองค์กรและเครือข่ายลูกค้าตลอดทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ โดยกลยุทธ์ในการพัฒนาโซลูชันการเงินเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจจากการร่วมลงทุนครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่

  • พัฒนาศักยภาพอี-วอลเล็ตที่สามารถนำมาใช้ได้ในลักษณะ B2B2C เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าองค์กรของธนาคาร อีกทั้งยังเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างธนาคาร อี-วอลเล็ต และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้กับกลุ่มลูกค้าองค์กรของ T2P ที่มีจำนวนกว่า 30 องค์กร ซึ่งมีฐานลูกค้ารายย่อยขององค์กรรวมกว่า 9 ล้านบัญชี 
  • พัฒนา API เพื่อเชื่อมต่อบริการการเงินต่างๆ ของธนาคารกสิกรไทยกับลูกค้าในรูปแบบ B2B2C ของธนาคารได้ โดยให้บริการอี-วอลเล็ตในรูปแบบ White Label ซึ่งเป็นจุดแข็งของทีทูพี เช่น เติมเงิน ชำระเงิน และถอนเงิน ทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบครันมากขึ้น
  • นำโครงสร้างเทคโนโลยีของอี-วอลเล็ตเสริมศักยภาพบริการสินเชื่อดิจิทอล (Digital Lending) ที่มีความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้น กล่าวคือ ธนาคารมองการปรับใช้เทคโนโลยีของทีทูพีในมุมของการควบคุมการใช้จ่ายสินเชื่อผ่านช่องทางหรือร้านค้าที่กำหนดและถูกต้องตามวัตถุประสงค์ รวมถึงเป็นตัวช่วยในการตัดชำระรายการสินเชื่อคงค้างด้วย

นายทวีชัย ภูรีทิพย์ ประธานบริหาร และหนึ่งในผู้ก่อตั้งของทีทูพี กล่าวว่า ทีทูพีได้พัฒนาแพลตฟอร์มและโซลูชั่นเงินอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี 2011 เพื่อสร้างแพลตฟอร์มวอลเล็ตที่ครบวงจรซึ่งตอบโจทย์ทั้งธุรกรรมการเงินและธุรกรรมต่อเนื่องเพื่อเสริมความสัมพันธ์ลูกค้า ระบบที่บริษัทพัฒนาขึ้นถูกออกแบบเพื่อทำงานร่วมกับระบบของคู่ค้า จึงทำให้ได้รับการตอบรับในกลุ่มลูกค้าองค์กรชั้นนำเป็นอย่างดี นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการเป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อถือในอีโค่ซิสเท็มของการชำระเงินสำหรับองค์กรต่างๆ

“การได้รับการสนับสนุนครั้งนี้จากธนาคารกสิกรไทยผ่านบีคอน วีซี เป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัทขึ้นไปอีกขั้น เพื่อรองรับฐานลูกค้าขนาดใหญ่ของลูกค้าองค์กรธุรกิจของธนาคารกสิกรไทยที่มีสมาชิกใช้บริการเป็นจำนวนมาก และจะทำให้สมาชิกเหล่านั้นเข้าถึงบริการด้านระบบการเงินยุคใหม่ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนในครั้งนี้ยังเพิ่มศักยภาพการรองรับดิสรัปชัน (Disruption) ของเทคโนโลยีด้านการเงินด้วยการพัฒนาและขยายบุคคลากรด้านไอทีของบริษัทให้มีความพร้อมสร้างสรรค์ไอเดียและตอบรับนวัตกรรมใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”